Wagram, Battle of (1809)

ยุทธการที่วากราม (พ.ศ. ๒๓๕๒)

ยุทธการที่วากรามเป็นส่วนหนึ่งของสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ (The Fifth Coalition War ค.ศ. ๑๘๐๙)* หรือสงครามฝรั่งเศส-ออสเตรีย (Franco-Austrian War ค.ศ. ๑๘๐๙)เกิดขึ้นณ บริเวณหมู่บ้านวากรามใกล้กรุงเวียนนา ระหว่างวันที่ ๕–๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ กองทัพฝรั่งเศสภายใต้การบัญชาการของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* ได้ปะทะกับกองทัพออสเตรียซึ่งมีอาร์ชดุ๊กชาลส์แห่งออสเตรีย ดุ๊กแห่งเทเชิน (Charles of Austria, Duke of Teschen) เป็นแม่ทัพทหารทั้ง ๒ ฝ่ายมีจำนวนรวมกันเกือบ ๒๕๐,๐๐๐ นาย นับว่าเป็นจำนวนทหารมากที่สุดที่ต่อสู้กันในสนามรบในคราวเดียวกันนับตั้งแต่เกิดสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* ในยุทธการครั้งนี้ ทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญเพราะสามารถสร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่ฝ่ายออสเตรีย ขณะเดียวกันยุทธการที่วากรามก็นับเป็นสงครามแตกหัก (decisive war) ครั้งสุดท้ายในสงครามนโปเลียน

 ยุทธการที่วากรามเป็นการยุทธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ โดยมีหลายประเทศเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญได้แก่ ออสเตรีย ฮังการี อังกฤษ และสเปน ซึ่งรวมกำลังกันต่อสู้กับฝรั่งเศสและพันธมิตรของฝรั่งเศส การก่อสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ ของออสเตรียสืบเนื่องจากการที่ออสเตรียพ่ายแพ้อย่างยับเยินแก่กองทัพฝรั่งเศสในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)* ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (The Third Coalition War ค.ศ. ๑๘๐๓–๑๘๐๖) ออสเตรียถูกบังคับให้สงบศึกด้วยการทำสนธิสัญญาเพรสบูร์ก (Treaty of Pressburg) ซึ่งทำให้ออสเตรียถูกลดบทบาทของการเป็นประเทศมหาอำนาจและต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมากทั้งในคาบสมุทรอิตาลี บาวาเรีย (Bavaria) และดินแดนเยอรมันแก่ฝรั่งเศส รวมทั้งประชาชนจำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน จากจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ ล้านคน และเงินค่าปฏิกรรมสงครามอีก ๔๐ล้านฟรังก์ นอกจากนี้ออสเตรียยังถูกขับออกจากดินแดนเยอรมันเมื่อมีการสถาปนาสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ โดยมีจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นผู้นำ นับเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ในดินแดนเยอรมันที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งออสเตรียมีบทบาทและอำนาจมานานนับร้อย ๆ ปีการสูญเสียบทบาทและอำนาจดังกล่าวเป็นเรื่องอัปยศอย่างยิ่ง และเป็นการหยามเกียรติยศของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก จนทำให้ออสเตรียคิดแก้แค้นฝรั่งเศสเพื่อกู้ศักดิ์ศรีของตน

 ระหว่างสงครามคาบสมุทร (Peninsular War ค.ศ. ๑๘๐๗–๑๘๑๔) ฝรั่งเศสได้ถอนกองกำลังที่ประจำการในดินแดนเยอรมันหรือสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ไปสมทบกำลังกับกองทัพฝรั่งเศสที่กำลังต่อสู้กับกองทัพผสมของสเปน อังกฤษ และโปรตุเกสแม้ออสเตรียซึ่งในขณะนั้นจะปราศจากพันธมิตร แต่ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะยึดดินแดนที่เคยปกครองคืนพร้อมกับปลดแอกดินแดนในเยอรมนีและดินแดนทางตอนเหนือของอิตาลีให้เป็นไทจากอำนาจของฝรั่งเศสทั้งยังจะเป็นการกู้สถานภาพเดิมของตนในดินแดนเยอรมันและอิตาลีอีกด้วย ออสเตรียหวังว่าสงครามกับฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นจะช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในดินแดนเยอรมันและอิตาลีจนเกิดการลุกฮือต่อต้านฝรั่งเศส ดังนั้นในวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๙ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ อาร์ชดุ๊กชาลส์แห่งออสเตรียได้ยกกองทัพบุกราชอาณาจักรบาวาเรียที่เคยอยู่ใต้อำนาจการปกครองของออสเตรียซึ่งในขณะนั้นเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศส ในเวลาไม่ช้า ประชาชนในดินแดนต่าง ๆ ทั้งในดินแดนเยอรมันและอิตาลีต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และกองทัพของอาร์ชดุ๊กชาลส์สามารถยึดเมืองมิวนิก (Munich) และเกือบมีชัยชนะในบาวาเรีย อย่างไรก็ดีระหว่างวันที่ ๑๙–๒๓ เมษายน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้เสด็จจากกรุงปารีสพร้อมกองกำลังทหารองครักษ์มายังดินแดนเยอรมัน และสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง ต่อมาทรงกรีฑาทัพเพื่อพิชิตกรุงเวียนนา นครหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย แต่กองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถข้ามแม่น้ำดานูบ (Danube) เพื่อบุกโจมตีเมืองได้เพราะออสเตรียทำลายสะพานต่าง ๆ จนใช้การไม่ได้ ฝรั่งเศสจึงต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดานูบเพื่อโจมตีกรุงเวียนนา

 ต่อมา ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม กองทัพฝรั่งเศสสามารถเคลื่อนพลจากทางใต้ของแม่น้ำดานูบเข้าสู่กรุงเวียนนาได้สำเร็จ แต่ออสเตรียไม่ยอมแพ้หรือยอมเจรจาสงบศึก ขณะเดียวกันกองทัพออสเตรียภายใต้การนำของอาร์ชดุ๊กชาลส์ก็ยังคงป้องกันดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเวียนนาไว้ได้อย่างมั่นคงดังนั้น ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑จึงเคลื่อนกองกำลังข้ามแม่น้ำดานูบไปยังฝั่งตะวันออกของกรุงเวียนนาเพื่อทำการยุทธ์กับกองทัพของอาร์ชดุ๊กชาลส์ อย่างไรก็ดี ในยุทธการที่แอสเพิร์นและเอสโซลิง (Battle of Aspern and Essoling) ฝรั่งเศสกลับเป็นฝ่ายปราชัยและเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงต้องใช้เวลาต่อไป


อีก ๖ สัปดาห์ เพื่อวางแผนการรบอย่างรัดกุมและเตรียมกองกำลังให้พร้อม ซึ่งมีทั้งการเสริมกำลังและการสร้างสะพานเพิ่มขึ้นเพื่อความสะดวกในการยกกองทัพข้ามแม่น้ำดานูบ เพราะความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในครั้งต่อไปอาจหมายถึงการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศสรวมพลังกันเพื่อพิชิตฝรั่งเศสได้

 หลังเตรียมความพร้อมจนเป็นที่พอพระทัยแล้วในคืนของวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงเคลื่อนกองกำลังฝรั่งเศสจำนวน ๑๙๐,๐๐๐คนประกอบด้วยทหารฝรั่งเศสเยอรมันและอิตาลี ซึ่งมีทั้งหน่วยทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่และอื่น ๆ ข้ามแม่น้ำดานูบไปยังเขตที่ราบมันช์เฟลด์ (Manchfeld) ซึ่งมีหมู่บ้านวากรามตั้งอยู่ และเป็นที่ตั้งของกองทัพออสเตรียจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ คน ภายใต้การบังคับบัญชาของอาร์ชดุ๊กชาลส์ กองทัพของทั้ง ๒ ฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือดในยุทธการที่วากรามระหว่างวันที่ ๕–๖ กรกฎาคม อาร์ชดุ๊กชาลส์ทรงใช้ยุทธวิธีการตั้งรับด้วยการกระจายกองกำลังไปตามเส้นทางประมาณ ๒๓ กิโลเมตร โดยมีหมู่บ้านวากรามอยู่ระหว่างกลาง ขณะเดียวกันพระองค์ทรงคาดหวังว่าอาร์ชดุ๊กจอห์น (John) พระอนุชาจะนำกำลังอีก ๓๐,๐๐๐ นายมาสมทบในไม่ช้า แต่ก็ไม่ทันการบุกของกองทัพฝรั่งเศสที่มีกำลังมากกว่า นอกจากนี้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยังทรงนำกองทหารปืนใหญ่ประกอบด้วยปืนใหญ่จำนวน ๑๑๒ กระบอก เป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการยุทธ์ครั้งนี้ด้วยการรบเป็นสงครามแตกหักซึ่งหน่วยทหารต่าง ๆ ปฏิบัติการอย่างเต็มกำลังโดยไม่มีกองกำลังจากภายนอกเข้ามาสมทบอีก ท้ายที่สุดกองทัพออสเตรียไม่สามารถต้านทานกองกำลังของฝรั่งเศสที่มีทั้งจำนวนทหารที่มากกว่าและยุทธปัจจัยที่เหนือกว่าได้ทั้งที่ในตอนแรกกองทัพของออสเตรียเป็นต่อภายในเวลา ๒วันยุทธการที่วากรามก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของฝรั่งเศส

 อย่างไรก็ดี อาร์ชดุ๊กชาลส์ยังคงไม่ยอมจำนนต่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และเคลื่อนพลไปยังโบฮีเมียสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียจึงดำเนินต่อไปในยุทธการที่ซไนม์ (Battle of Znaim) ระหว่างวันที่ ๑๐–๑๑ กรกฎาคม ก่อนที่อาร์ชดุ๊กชาลส์จะยอมเจรจาสงบศึกด้วย ต่อมาในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๙จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๓๕)* แห่งออสเตรียทรงลงพระนามในสนธิสัญญาเชินบรุนน์ (Treaty of Schönbrunn) กับฝรั่งเศสนับเป็นการยุติสงครามระหว่างออสเตรียกับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ออสเตรียสูญเสียซัลซ์บูร์ก (Salzburg) ให้แก่บาวาเรีย เวสต์กาลิเซีย (West Galicia) ให้แก่ราชรัฐวอร์ซอ (Grand Duchy of Warsaw) และต้องยินยอมยกมณฑลตาร์นอปอล (Tarnopol) ให้แก่รัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit ค.ศ. ๑๘๐๗)* และเมืองตริเอสเต (Trieste) และโครเอเชีย(Croatia)ทางตอนใต้ของแม่น้ำซาวา (Sava) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลอิลลิเรีย (Illyrian Province) ให้แก่ฝรั่งเศส รวมทั้งต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและถูกจำกัดกำลังทหารเหลือเพียง ๑๕๐,๐๐๐ นาย ทั้งยังต้องยอมรับชัยชนะและการครอบครองดินแดนต่าง ๆ ของฝรั่งเศสที่ได้รับจากสงครามต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ต้องยอมรับการสถาปนาเจ้าชายโจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)* พระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นกษัตริย์แห่งสเปนอีกด้วย

 ยุทธการที่วากรามและสนธิสัญญาเชินบรุนน์จึงเป็นการยุติสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ ที่ออสเตรียเป็นผู้ก่อขึ้น เพราะแม้จะมีการต่อสู้ระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศในคาบสมุทรไอบีเรียและอังกฤษก็เป็นการสู้รบที่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามคาบสมุทรและสงครามนโปเลียน แม้ยุทธการที่วากรามจะนำความพ่ายแพ้มาสู่ออสเตรีย แต่หากพิจารณาถึงจำนวนทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้ง ๒ ฝ่ายรวมกันประมาณ ๗๗,๐๐๐ นาย เป็นทหารออสเตรียจำนวน ๔๐,๐๐๐ นาย ทหารฝรั่งเศสจำนวน ๓๗,๐๐๐ นาย ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนของจำนวนทหารออสเตรียที่บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยกว่าฝ่ายฝรั่งเศสที่มีกำลังมากกว่า อย่างไรก็ดี ยุทธการที่วากรามถือว่าเป็นความล้มเหลวของกองทัพออสเตรียที่จะกู้ศักดิ์ศรีคืน ทั้งต้องเสียดินแดนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหลังจากที่เคยเสียไปแล้วในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ หลังจากยุทธการที่วากราม ออสเตรียจำต้องถอนตัวออกจากการรบ และสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศพันธมิตรก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามคาบสมุทรและสงครามนโปเลียน ส่วนในด้านของฝรั่งเศส ยุทธการที่วากรามเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้แก่ประเทศและจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสงครามแตกหักครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่เกิดสงครามนโปเลียน ที่ฝรั่งเศสต้องรบจนรู้ผลแพ้ชนะไม่ว่าสถานการณ์ในสมรภูมิจะเลวร้ายเพียงใดหรือมีกำลังเท่าไร ก่อนที่สงครามนโปเลียนจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๘๑๕.



คำตั้ง
Wagram, Battle of
คำเทียบ
ยุทธการที่วากราม
คำสำคัญ
- กาลิเซีย
- นโปเลียนที่ ๑
- ยุทธการที่ซไนม์
- ยุทธการที่วากราม
- ยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์
- ยุทธการที่แอสเพิร์นและเอสโซลิง
- สงครามคาบสมุทร
- สงครามนโปเลียน
- สงครามฝรั่งเศส-ออสเตรีย
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕
- สนธิสัญญาทิลซิท
- สนธิสัญญาเพรสบูร์ก
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1809
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๕๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-